28 กันยายน 2560 ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของประเทศไทย คือ “วันพระราชทานธงชาติไทย” (Thai National Flag Day) โดยในปี 2560 นี้ถือเป็นวันครบรอบ 100 ปีธงชาติไทย ดังนั้น ในโอกาสสำคัญ 100 ปี ธงชาติไทย เช่นนี้ MJU LIBRARY จึงขอพาทุกคนย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ชาติ สมัยแรกเริ่มมี ธงชาติไทย ใช้กันดีกว่า
ในอดีตไทยเคยใช้ธงชาติในหลายรูปแบบ แต่ที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เริ่มตั้งแต่ก่อน ปี 2325 ไทยเคยใช้ธงพื้นแดงเป็นสัญลักษณ์ เพื่อติดต่อการค้าตั้งแต่สมัยอยุธยา จากนั้นวิวัฒนาการของธงชาติไทย เริ่มเปลี่ยนรูปแบบมา จนถึงปี 2394 เริ่มใช้ช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมืองมาเป็นสัญลักษณ์ จนกระทั่งในปี 2460 จึงประกาศใช้ธงไตรรงค์ ที่สะท้อนความเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย ทั้งสถาบันชาติ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์
หลายคนอาจสงสัยว่าจาก ธงชาติไทยในรูปแบบต่างๆ ที่ดูเหมือนจะเป็นสัญลักษณ์ของชาติไทย
ถูกเปลี่ยนกลายมาเป็นธงไตรรงค์ในปัจุบันได้อย่างไร?
แท้จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น มีเหตุผลที่คาดไม่ถึงจากการที่ชาวจังหวัดอุทัยธานี รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2459 หลังจากที่มีการประกาศข่าวให้ประชาชนชาวเมืองทราบกันทั่วว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จเยี่ยมราษฎรประจำจังหวัดอุทัยธานี และจะหยุดประทับแรมถึงสองราตรี ราษฎรจึงได้จัดเตรียมเคหสถานบ้านเรือนเป็นงานรับเสด็จเป็นการใหญ่ ส่งผลให้ตลอดข้างทางเสด็จในเมืองอุทัยธานี เต็มไปด้วยธงทิวผ้าเฟื่อง ซุ้มดอกไม้ และโต๊ะบูชา เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี
แต่ในระหว่างที่รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินผ่านตัวเมืองอุทัยธานี ไปถึงแถบชุมชนที่ห่างจากบริเวณตัวเมือง ชาวบ้านในตัวชุมชนก็ได้พยายามติด ธงชาติไทย ช้าง เพื่อให้การต้อนรับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเช่นกัน แต่มีบ้านหลังหนึ่งที่ได้ธงมาอย่างกะทันหัน จึงได้เอา ธงชาติไทย ช้าง ไปติดไว้บนยอดหน้าจั่วหลังคา แต่เมื่อขบวนเสด็จพระราชดำเนินมาหยุดลง สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อล้นเกล้าล้นกระหม่อมทอดพระเนตรขึ้นไปเห็นธงช้างผืนนั้น ก็มีอาการสะดุดพระเนตร เนื่องจาก ธงชาติไทย ช้าง ติดอยู่ในลักษณะช้างนอนหงายเอาเท้าชี้ฟ้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่เป็นมงคล
จากนั้นมา พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า ธงชาติต้องมีรูปแบบที่สมมาตรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก จึงเป็นจุดกำเนิดของธงแดงขาวห้าริ้ว ซึ่งเป็นรูปแบบสมมาตร และไม่ว่าติดด้านไหนก็ไม่มีลักษณะกลับหัว โดยสีแดงนั้นมาจากสีเดิมของธง ส่วนสีขาวมาจากช้างเผือกนั้นเอง
ส่วนรูปแบบของ “ ธงชาติไทย ” หรือ “ ธงไตรรงค์ ” นั้น เริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อปีพุทธศักราช 2460 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสาเหตุที่รัชกาลที่ 6 ทรงเลือกสีนี้ หนึ่งมาจากการที่ทรงได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ ฉบับภาษาอังกฤษ ที่มีผู้เขียนเรื่องธงใช้นามปากกา “อะแควเรียส” ระบุว่า “ธงห้าริ้วสวยงามดี แต่หากจะให้ดีควรมีสีน้ำเงินใส่เข้าไปด้วย เพราะสีน้ำเงิน เป็นสีแสดงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในนานาประเทศ” อีกทั้งสีนี้เป็นสีที่พระองค์ที่โปรดมาก เนื่องจากเป็นสีประจำวันพระราชสมภพคือวันเสาร์ รวมไปถึงยังแสดงถึงชัยชนะและความเป็นหนึ่งเดียว พระองค์ทรงลองผสมสีม่วงเข้ากับสีน้ำเงิน และได้ออกมาเป็นสีใหม่ คือ สีขาบ ที่มีลักษณะน้ำเงินเข้มอมม่วง จากนั้นทรงพระราชทานชื่อเรียกว่า “ธงไตรรงค์” ธงชาติ 5 ริ้ว พร้อมความหมาย
สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีเพื่อธำรงรักษาชาติและศาสนา
สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์
สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งศาสนา
และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ ธงไตรรงค์ เป็น ธงชาติไทย รวมทั้งได้พระราชทานธงไตรรงค์ เป็นธงชาติสยาม เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 ตามพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2460 นั่นเอง
Cr. thestandard ,bugaboo.tv