BOOK : สยามมกุฎพิสุทธิ์ศิลป์

หนังสือที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ อันมีเนื้อหาสะท้อนพระราชภารกิจด้านการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ตลอดจนพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อหน่วยงานต่าง ๆ และอาณาประชาราษฎร์ รวมทั้งได้รวบรวมบทพระราชนิพนธ์ร้อยกรองและเพลงพระราชนิพนธ์ ซึ่งสะท้อนพระอัจฉริยภาพด้านอักษรศาสตร์ที่ได้ทรงเลือกศึกษาเป็นวิชาพื้นฐานสามัญ ระดับปริญญาตรี ณ มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลล์ ประเทศออสเตรเลียได้เป็นอย่างดี

ด้านศาสนา
พระองค์มีพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนา ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวเนื่องในพระพุทธศาสนาด้วยพระองค์เอง และเสด็จพระราชดำเนินในฐานะผู้แทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกเป็นอันมาก เช่น ทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะเมื่อพุทธศักราช 2509 ทรงผนวชเมื่อพุทธศักราช 2521 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2521

ทรงรับภัตตาหารบิณฑบาตจากประชาชน ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2521

เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเนื่องในพระราชพิธีสงกรานต์ เสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)ตามฤดูกาล ณ วัดพระศรีรัตนมหาศาสดาราม เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์ และทรงประกอบพิธีเชิญระฆังและกระเบื้องประดิษฐานที่ใต้อิศวรวัชระพระมงกุฎองค์พระปฐมเจดีย์ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงตัดลูกนิมิตอุโบสถ วัดต่าง ๆ และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าอุโบสถวัดต่าง ๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมของศาสนาอื่น ๆ อยู่เสมอ เช่น ทรงเป็นผู้แทนพระองค์เปิดงานเมาลิดกลางของศาสนาอิสลาม ทรงเป็นผู้แทนพระองค์ในการพระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย ของศาสนาพราหมณ์ และร่วมกิจกรรมส่งเสริมคริสต์ศาสนา ศาสนาพราหมณ์ฮินดู และศาสนาซิกข์ อยู่เสมอ

ด้านศิลปวัฒนธรรม

พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในงานด้านอักษศาสตร์จึงทรงสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานวรรณกรรมของชาติ โดยทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (รางวัลซีไรท์) เป็นประจำทุกปี ได้พระราชทานพระราชดำรัสเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่นักเขียนในกลุ่มประเทศอาเซียน ดังตัวอย่างเมื่อพุทธศักราช 2534 ว่า

“ความแตกต่างเกี่ยวกับภูมิหลังและทัศนคติของนักเขียนรางวัลซีไรท์ปีนี้ ชี้ให้เห็นเด่นชัดว่า ถึงจะมีภูมิหลังและทัศนคติที่แตกต่างกัน แต่ศิลปินนักเขียนก็ปรารถนาที่จะใช้ปลายปากกาโน้มน้าวจิตใจผู้อ่านให้ได้มากที่สุดเหมือนกันทุกคน การที่ทุกคนได้รับเลือกจากศิลปินร่วมชาติให้เป็นผู้ได้รับรางวัลซีไรท์ในปีนี้ เท่ากับว่าได้บรรลุถึงจุดหมายสูงยิ่งระดับหนึ่งแล้ว แต่ผู้ที่ทำงานสร้างสรรค์นั้นเมื่อถึงจุดหมายแห่งหนึ่งแล้วย่อมยังจะไม่หยุดยั้ง หากแต่จะก้าวเดินให้รุดหน้าไปสู่จุดหมายที่สูงขึ้นต่อไปอีก”

พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในการแต่งบทกวีนิพนธ์มาแต่ทรงพระเยาว์ พระราชนิพนธ์ส่วนใหญ่เป็นบทกลอนซึ่งทรงแต่งเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

บทพระราชนิพนธ์
ถวายพระพรในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2515

          วันเฉลิม สมเด็จแม่ ได้แต่คิด
ขอน้อมจิต รำลึกถึง คนึงหา
พระคุณแม่ มากล้น เหลือคณนา
ลูกเกิดมา โชคดี มีแม่งาม

         ไปเมืองไหน ถูกถาม ถึงนามแม่    ว่าสวยแท้ ราชินี แห่งสยาม
ควีนสิริกิติ์ จำขึ้นใจ ในพระนาม            ชมว่างาม เพริดพริ้ง ยอดหญิงไทย

         แม่รักชาย ห่วงชาย ชายก็รู้
ชายจะสู้ สุดชีวา อย่าสงสัย
จะทำตัว ให้สม แม่วางใจ
จะรักไทย กู้ศักดิ์ศรี จักรีวงศ์

        จะรักหญิง ที่เขา เข้าใจแม่       จะแน่วแน่ พุทธศาสน์ ถือพระสงฆ์
การสวดมนต์ ไหว้พระ จะดำรง         จะมั่นคง รักชาวไทย ไม่เสื่อมคลาย

        ขอถวาย สมเด็จแม่ เพียงแค่นี้
จงโชคดี มีสุข ทุกข์จากหาย
อย่าคิดมาก ทำพระทัย ให้สบาย
เรื่องลูกชาย แม่อย่าเศร้า เขารักดี

        ชายขอกราบ ลงที่ตัก พร้อมรักแท้   ชายรักแม่ สุดหัวใจ ชายไม่หนี
ชายจะเป็น กำลังใจ ป้องไพรี                มอบชีวี และเลือดเนื้อ เพื่อแม่เอย

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

ข้อมูลหนังสือ
สยามมกุฎพิสุทธิ์ศิลป์ : สมุดภาพพระราชกรณียกิจสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ด้านศาสนา และศิลปวัฒนธรรม
จัดทำโดย: กรมศิลปากร
สำนักพิมพ์: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง
จำนวนหน้า: 196 หน้า
พิมพ์ครั้งที่ 1 — 2559
ISBN: 9786162832758

สารบัญ

  • พระราชประวัติ
  • พระเกียรติคุณ
  • พระราชกรณียกิจด้านศาสนา
  • พระราชกรณียกิจด้านศิลปวัฒนธรรม
    ภาษาและวรรณศิลป์
    ศิลปะการแสดง นาฏศิลป์และดนตรี
    ศิลปกรรม
  • ประมวลพระบรมราโชวาทด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม
  • ประมวลพระราชกรณียกิจด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรมตรวจสอบสถานะหนังสือในห้องสมุด