เจ้าชายผู้ไม่มีชื่อเล่น
วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เมื่อเวลา 17.45 น. ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชโอรสเพียงพระองค์เดียว ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพ ตรงกับ วันจันทร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 9 ปีมะโรง จัตวาศก อธิกวาร จุลศักราช 1314 นับเป็นปีที่ 7 แห่งการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
บรรยากาศในพระราชวังวันนั้นเป็นอย่างไร คงยากที่ประชาชนอย่างเราจะทราบได้ … ถ้าศาสตราจารย์ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล ซึ่งปฏิบัติหน้าที่พระอาจารย์ถวายการสอนภาษาไทยแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้บรรยายถึงนาทีอันเป็นมงคลฤกษ์ว่า
‘…วันนี้ ครึ้มฟ้าครึ้มฝนตั้งแต่เช้า ฝนไม่ได้ตกมานาน นายแพทย์ผู้ถวายการประสูติเข้าประจำที่สักครู่ก็ประสูติพระราชกุมาร เวลา ๑๗ นาฬิกา กับ ๔๕ นาที ในนาทีเดียวกันนั้นเอง ฝนที่แล้งมาตลอดฤดูก็เริ่มโปรยปรายละอองลงมา ดูคล้ายๆ ฟ้าก็รู้เห็นเป็นใจกับการประสูติครั้งนี้…
‘…นายแพทย์ ที่ถวายการประสูติ …กล่าวออกมาด้วยเสียงอันตื่นเต้นกังวานว่า ผู้ชาย แทนที่จะว่า พระราชโอรส ฝนโปรยอยู่ตลอดเวลา แตรสังข์ดุริยางค์เริ่มประโคม ทหารบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีปืนใหญ่ทั้งบกและเรือยิงสะเทือนเลื่อนลั่น เสียงไชโยโห่ร้องก็ดังอยู่สนั่นหวั่นไหว
‘สมใจประชาชนแล้ว… ดวงใจทุกดวงมีความสุข…’
ในหนังสือ สี่เจ้าฟ้า ฉบับเรียบเรียงใหม่โดย ลาวัณย์ โชตามระ เล่าว่า สยามมกุฎราชกุมาร เป็นทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าเพียงพระองค์เดียวที่ไม่มี ‘ชื่อเล่น’ เหมือนสมเด็จพระเชษฐภคินีหรือพระขนิษฐาอีก 3 พระองค์ อาจเพราะเป็น ‘ทูลกระหม่อมชาย’ เพียงพระองค์เดียว
คำว่า ‘ชาย’ จึงเป็นเสมือนชื่อที่ใช้แทนพระองค์
พระนามที่มาจากรัชกาลที่ 4 และ 5
สมเด็จพระสังฆราชฯได้ถวายพระนามว่า
‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร’
ซึ่งเป็นพระมงคลนามตามพระราชตระกูล โดยอัญเชิญพระนามฉายาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งปรากฏในขณะทรงพระผนวชว่า ‘วชิรญาณะ’ ผนวกกับ ‘อลงกรณ์’ จากพระนามจุฬาลงกรณ์ของรัชกาลที่ 5
นักการทหารผู้ตั้งปณิธานเพื่อชาติและประชาชน
ทูลกระหม่อมฟ้าชายทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 4 ปี จนถึงชั้นระดับมัธยมศึกษา ก่อนจะบินไปเข้ารับการศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์สกูล เขตพารามัตตา นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย จนถึง พ.ศ. 2514 แล้วเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน ที่หลักสูตรแบ่งออกเป็น 2 ภาค ได้แก่ ภาควิชาการทหาร และการศึกษาวิชาสามัญ ระดับปริญญาตรี
ซึ่งระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ในปี พ.ศ. 2515 ทูลกระหม่อมฟ้าชาย เจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ให้ดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารตามโบราณขัตติยราชประเพณี
หลังจบการศึกษาใน พ.ศ. 2519 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก 2 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2520-2521
ดูเหมือนเจ้าชายจะโปรดด้านการทหารเป็นพิเศษ หลังจากนั้นเป็นต้นมา พระองค์ทรงศึกษาต่อเพิ่มเติมในหลักสูตรด้านการบินหลายหลักสูตร ตั้งแต่การฝึกบินเฮลิคอปเตอร์ทั่วไปและแบบที่ติดอาวุธโจมตี และเครื่องบินปีกติดลำตัว เป็นต้น
แม้บทบาทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในช่วงนั้นจะเด่นชัดด้านการทหารที่พระองค์ทรงให้ความสนพระทัย แต่อีกด้านหนึ่งพระองค์ก็ทรงยึดแนวทางการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงงานเพื่อประชาชน
ดั่งเช่นที่พระองค์มีพระราชดำรัสให้คำมั่นไว้ในงานสโมสรสันนิบาต ซึ่งรัฐบาลจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ที่ทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’ เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2515 ณ ทำเนียบรัฐบาลว่า
“ข้าพเจ้าทราบตระหนักว่า ข้าพเจ้ามีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อประเทศชาติอย่างสูง และการปฏิบัติราชการแผ่นดินนั้น เป็นภาระสำคัญใหญ่ยิ่ง ที่ต้องอาศัยทั้งสติปัญญาและความรู้ความสามารถอย่างพร้อมมูล
“ข้าพเจ้าจะต้องเพียรพยายาม ศึกษาและปฏิบัติฝึกฝนตนเองต่อไปอีก อย่างมาก เพื่อให้สามารถเหมาะสม กับหน้าที่ ตามที่ทุกคนมุ่งหวัง…
“ในโอกาสอันพิเศษนี้ จึงใคร่ขอให้ท่านทั้งหลายได้เป็นกำลังใจสนับสนุนข้าพเจ้า และได้ตั้งความปรารถนาร่วมกันกับข้าพเจ้าที่จะมุ่งมั่นประกอบกรณียกิจ ด้วยความสามัคคีพร้อมเพรียง และด้วยความสุจริตยุติธรรม เพื่อยังความเจริญมั่นคงและความร่มเย็นเป็นผาสุกให้บังเกิดแก่ชาติ ประเทศ และประชาชนยั่งยืน สืบไป…”
ข้าพเจ้าไม่ใช่คนพูดเก่งนัก
“ให้เขาคุยกับท่านทั้งหลายบ้างนะคะ”
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงตรัสกับชาวไทยที่มาเข้าเฝ้าฯ ณ โรงแรมวิลลาร์ด (Willard) ประเทศสหรัฐอเมริกาว่า ในหลวงทรงฝากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ตามเสด็จดูแลพระองค์ ก่อนจะลุกสลับที่ให้พระบรมฯ มานั่งฝั่งที่มีไมโครโฟน เพื่อตรัสกับประชาชนที่มาเข้าเฝ้า
เสียงปรบมือจากประชาชนที่เข้าเฝ้าดังกึกก้องต้อนรับ หลังนั่งลงและจัดแจงพระวรกายเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ตรัสประโยคแรกว่า
“ก่อนอื่นก็ขอออกตัวว่า เป็นคนที่คุยไม่ค่อยจะเก่ง”
หลังจากนั้น พระองค์มีพระราชดำรัสที่มีเนื้อความโดยสรุปว่า รู้สึกปลื้มปีติ และยินดีอย่างมากที่ได้ใกล้ชิดคนไทยในที่นี้
เมื่อมีพระราชดำรัสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนจะทรงลุกให้พระบรมราชินีนาถตรัสต่อ พระองค์ได้ตรัสประโยคสุดท้ายว่า
“ข้าพเจ้าไม่ใช่คนพูดเก่งนัก แต่ขอขอบใจที่ทุกคนมีไมตรีจิตในครั้งนี้ ขอบคุณ”
นี่คือภาพเหตุการณ์สั้นๆ ที่เกิดขึ้นในคลิปวิดีโอที่มีการเผยแพร่ในโลกออนไลน์ แม้จะเป็นช่วงเวลาแค่ 3:42 นาที แต่ก็เป็นสามนาทีสั้นๆ ที่สะท้อนให้เห็นอีกมุมหนึ่งของเจ้าชายที่คนไทยหลายคนอาจไม่เคยเห็น โดยเฉพาะท่าทีที่แสดงออกถึงความถ่อมตนและไมตรีจิตอันหาที่สุดมิได้
กษัตริย์ผู้ปฏิญาณตนเพื่อชาติจนกว่าชีวิตจะหาไม่
ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เคยพระราชทานสัมภาษณ์ในสารคดี Soul of a Nation – the Royal Family of Thailand ที่ออกอากาศเมื่อ พ.ศ. 2523 ซึ่งปัจจุบันมีเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก บีบีซีไทย ตอนหนึ่งว่า
“ในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีแรงกดดันอย่างไรบ้างครับ?” เดวิด โลแมกซ์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีถาม
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในชุดเครื่องแบบทหารทรงนิ่งคิดชั่วครู่แล้วตรัสตอบว่า
“ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร เพราะตั้งแต่เกิดมาในวินาทีแรกของชีวิต เราก็อยู่ในฐานะเจ้าชายแล้ว
“มันไม่ง่ายเลยที่จะบอกว่า การเป็นปลาตัวหนึ่งนั้นเป็นอย่างไร ในขณะที่คุณเป็นปลาอยู่แล้ว หรือการเป็นนกตัวหนึ่งนั้นเป็นอย่างไร ในเมื่อคุณเป็นนกอยู่แล้ว ถ้าคุณลองถามมัน คุณรู้ไหม มันไม่ง่ายเลย พวกมันก็ไม่รู้ว่าชีวิตที่ไม่ใช่ปลาหรือนกนั้นเป็นอย่างไร
“เราเชื่อว่าในชีวิตของทุกๆ คน ย่อมมีแรงกดดัน ความเครียด และปัญหา และนี่ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง ซึ่งทุกคนต้องเผชิญ มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย มีทั้งข้อได้เปรียบและเสียเปรียบ หลายสิ่งหลายอย่าง
“เราเองก็ไม่มีอะไรพิเศษ”
พระราชดำรัสในประโยคสุดท้าย ชวนให้คิดถึงพระราชภาระและหน้าที่อันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงปฏิญาณเมื่อครั้งทำพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ที่มีขึ้นหลังพระราชพิธีเฉลิมพระนามาภิไธยจาก ‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ’ ให้ดำรงพระอิสริยยศ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’ ว่า
“…ข้าพระพุทธเจ้า ผู้เป็นมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอิสริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานไว้เสมอด้วยชีวิต จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชน จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่างโดยเต็มกำลัง สติปัญญา ความสามารถ และโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญ ความสงบสุข และความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศชาติไทย จนตราบเท่าชีวิตและร่างกายจะหาไม่”
Cr. themomentum.co