Movie Critical

 

We need to talk about Kevin คำสารภาพโหดของเควิน

Year: 2011
Running Time: 112 minutes
Director: Lynne Ramsay
Writers: Lynne Ramsay (screenplay), Rory Kinnear (Screenplay), Lionel Shriver(Novel)
Cast: Tilda Swinton, John C. Reilly, Ezra Miller

ตั้งแต่เริ่มเรื่อง ตัวหนังเปิดมาได้น่าสนใจ ใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์และกระจายตัวสัญญะไปทั่วตั้งแต่เริ่มเรื่อง ในเนื้อเรื่อง โดยเฉพาะความหมายของการขจัดความอับอายในทุกๆห้วงความคิดของแม่เควิน เพราะมีฉากที่แม่เควินขัดสีที่ถูกชาวบ้านนำมาสาดบริเวณหน้าบ้าน เพื่อประนามว่าเป็นแม่ฆาตกร ความโหดเหี้ยมของลูกชาย


ใช้สัญญะของผ้าม่านพริ้ว แสดงถึงความรู้สึกที่อ่อนไหวที่เรียกได้ว่า “ใจสลาย” ของแม่เควิน ซึ่งตอนเริ่มเรื่องจะยังคงไม่เข้าใจ แต่เมื่อดูจนจบแล้วจะรู้สึกได้ ตัวหนังดำเนินเรื่องแบบ สลับเหตุการณ์ คนเขียนบทตั้งใจให้เราปะติดปะต่อเนื้อเรื่อง แล้วลำดับวิวัฒนาการของเควินไปเรื่อยๆ


ตัวหนังถ่ายทอดอารมณ์ได้ดี เป็นหนังจิตวิทยาเรียบๆ แต่ดึงดูดคนดูจนจบได้อย่างให้แง่คิดสุดๆ หนังสอนให้รู้ว่า จะโทษเด็กอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะว่าแม่เควินก็มีลูกตั้งแต่ตอนที่ไม่พร้อม ตอนอุ้มลูกก็ไม่กล้าที่จะกอด ไม่ได้ให้ความรักกับลูกไม่แปลกที่เด็กจะรู้สึกต่อต้าน ลึกๆแล้วก็รู้สึกว่าพ่อของเควินเป็นต้นเหตุเพราะว่าซื้อธนูให้เควินฝึกยิงที่สวนหลังบ้าน ฝึกตั้งแต่เด็กจนโต จนยิงแม่น แล้วสุดท้ายก็เอาธนูมาฆ่าพ่อ น้องสาว และเพื่อน ดูแล้วรู้สึกได้เลยว่าเควินต่อต้านแม่ตั้งแต่เด็กๆ ยิ่งพอน้องสาวเกิดมา เควินก็ยิ่งอิจฉาน้อง แต่แม่เควินก็ดูเข้าหาเควินมากขึ้นบ้าง

ตอนสุดท้ายเควินอยู่ในคุกเยาวชน เป็นตอนที่แม่เควินมาหา แล้วถามว่า ทำไมถึงทำแบบนั้น เควินบอกว่า “เหมือนจะเคยรู้ แต่ตอนนี้ไม่แน่ใจ” ทำให้หนังจบได้น่าสนใจ แม้ว่าจะไม่ได้บอกชัดว่าบทสรุปเป็นอย่างไร แต่เราก็พอเดาได้จากฉากที่เควินกอดแม่ ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นใจว่าอย่างน้อยเควินก็ยังมีความรู้สึกที่ดีกับแม่บ้าง สมบูรณ์แบบในการปูเรื่องปิดหนังแล้ว

เพราะอะไรเควินถึงกลายเป็นฆาตกรโหดสังหารหมู่เพื่อน ๆ ในโรงเรียน เมื่อเด็กหรือผู้ใหญ่คนหนึ่งทำความผิดร้ายแรงขึ้นมา สังคมก็มักจะเพ่งเล็งไปที่ความผิดของคนคนนั้น พร้อมกับมีคำถามว่า มันเกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ไม่สั่งสอนลูกรึเปล่า ก็เหมือนกับอีวา แม่ของเควิน ที่ถูกตราหน้าจากคนในสังคมว่า ทำไมถึงเลี้ยงลูกให้กลายเป็นฆาตกรเลือดเย็นเช่นนี้


จริงๆแล้วการที่เด็กหรือคนๆหนึ่งจะกลายมาเป็นฆาตกร หรือ แม้กระทั่งทำพฤติกรรมผิดกฎหมาย (juvenile delinquency) คงไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งโดยเฉพาะ แต่สาเหตุหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญ นั่นคือ
“ชีวิตที่ผ่านมาไม่เคยรู้สึกถึงคุณค่าและการยอมรับ” มีตอนหนึ่งในหนัง เควินพูดความคิดของเขาออกมาว่า
“ใครๆก็ชอบดูทีวี คนที่ได้ออกทีวีถือเป็นคนสำคัญ ถ้าผมทำแบบนี้ผมก็จะได้ออกทีวี กลายเป็นคนสำคัญ ทุกคนจะมองเห็นผม เพราะถึงเราจะพยายามแค่ไหน เรียนดียังไง ก็ไม่ได้ช่วยให้เรากลายเป็นคนสำคัญ”
เควินอยากเป็นคนสำคัญ อยากให้ใครๆมองเห็น


มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร ก็ล้วนอยากเป็นที่ยอมรับในสายตาของคนรอบข้าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากคนที่รัก แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดี เมื่อเด็กคนหนึ่งใช้หนทางปกติธรรมดาแล้วไม่สามารถทำให้คนอื่นยอมรับได้ เด็กคนนั้นก็อาจจะใช้วิธีของเขาเอง แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องที่ผิด เพื่อให้คนอื่นหันมามองเห็นเขาบ้างแม้ว่าแม่อย่างอีวาจะรักลูก แต่สำหรับเควิน เขาเป็นเด็กที่เกิดมาพร้อมๆกับ “ความสุขที่ลดลง” ของแม่


ก่อนที่แม่จะแต่งงาน แม่เป็นคนที่ชอบท่องเที่ยว ชอบอะไรแปลกใหม่ แต่หลังจากที่เควินเกิด แม่ก็ไม่สามารถทำสิ่งที่ชอบได้ต่อไป ชีวิตเปลี่ยนไป ต้องทำงานบ้านมากมาย เครียด หงุดหงิด บางครั้งก็ไปลงที่เควินบางทีเธอก็จัดการกับความเครียดไม่ได้ เควินตอนที่ยังเป็นทารกก็เป็นเด็กเลี้ยงยาก ร้องไห้อยู่ตลอดเวลา ยิ่งแม่หงุดหงิดก็ยิ่งปลอบลูกให้เงียบไม่ได้ มีอยู่ฉากหนึ่งที่แม่คงจะเบื่อที่เควินตัวน้อยร้องไห้งอแงเสียงดัง จึงเอาตัวเควินขึ้นรถเข็น ไปทิ้งไว้อยู่แถวไซต์งานก่อสร้าง และให้เสียงก่อสร้างดังกลบเสียงร้องไห้ของเควิน เควินร้องไห้ไม่หยุด งอแงทุกเรื่อง แต่จะเป็นเฉพาะกับแม่ เหมือนจิตใต้สำนึกของเควินเองก็โตมาด้วยความรู้สึกลึกๆว่า แม่คงไม่ได้รักและสนใจตัวเขาเท่าไหร่ ทำให้กลายเป็นการแสดงออกแบบเรียกร้องความสนใจ และนั่นก็ยิ่งทำให้แม่ประสาทเสีย นอกจากจะเลี้ยงยาก เควินก็เหมือนจะมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กคนอื่น กว่าจะพูดได้ก็ช้า ต้องสอนนาน ทำให้แม่ยิ่งรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับลูกชายคนนี้ จนกระทั่งมีน้องสาว ซึ่งเป็นเด็กน่ารัก ช่างพูด เลี้ยงง่าย เควินก็ยิ่งถูกเปรียบเทียบกับน้องสาว


แม่ที่ไม่มีความสุขก็ย่อมมีผลกระทบต่อการเลี้ยงดูเด็กสักคนให้โตขึ้นมา และยิ่งเป็นเด็กที่มีปัญหาอยู่แล้วเป็นพื้นฐานเดิม เช่น เลี้ยงยาก พัฒนาการล่าช้า แบบเควิน ถ้าพ่อแม่ไม่มีความเข้าใจ และพ่อแม่เป็นคนที่เครียดง่าย ไม่อดทน เด็กก็จะยิ่งมีปัญหาที่รุนแรงขึ้น ที่สำคัญ แม่ไม่ยอมที่จะกอดลูกอย่างเควิน เมื่อเด็กไม่ได้รับความรักความเอาใจใส่จากคนที่ใกล้ชิดอย่างเหมาะสม เด็กจึงไม่สามารถสร้าง”ความไว้เนื้อเชื่อใจ”กับคนใกล้ชิด หรือที่เรียกว่า “basic trust” การสร้าง basic trust กับแม่หรือคนใกล้ชิดที่ดูแล เป็นก้าวแรกของเด็กที่จะนำไปสู่การมองโลกในแง่ดี มีความพร้อมที่จะไว้ใจ เห็นใจ มีเมตตาให้กับคนอื่น แต่เมื่อมันไม่เกิดกับคนที่ได้ชื่อว่าเป็นแม่ เด็กอย่างเควินจึงกลายเป็นเด็กที่ไม่ไว้ใจใคร มองคนอื่นในแง่ร้าย เด็กส่วนหนึ่งจึงโตมาเป็นคนที่พร้อมจะทำร้ายคนอื่นโดยไม่คิดถึงผลที่ตามมา กลายเป็นคนที่ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดีได้อย่างที่เห็นในหนัง

สัมพันธภาพพื้นฐาน และความเข้าใจระหว่างพ่อแม่ลูกเป็นเหมือนรากของต้นไม้ ที่ถ้าไม่แข็งแรงพอ ความสัมพันธ์ไม่ดี การจะปลูกฝังเด็กคนหนึ่งให้เป็นผู้ใหญ่ที่โอเคก็เป็นเรื่องยาก เหมือนต้นไม้ที่ไม่มีราก เมื่อลมพายุพัดมา ก็ล่มโค่นไปง่ายๆ แม่ของเควินเองก็คิดว่า ตัวเองเลี้ยงดูเควินมาอย่างดีที่สุดแล้ว แต่เธอก็ไม่รู้ตัวว่า สิ่งที่เธอปฏิบัติ การแสดงออกกับเควินเมื่อยังเป็นเด็ก กลายเป็นการทำร้ายหัวใจน้อยๆของเควินอย่างไม่ตั้งใจ จนในวันที่สายเกินไป เควินกลายเป็นคนที่เธอแทบจะไม่รู้จัก ไม่เข้าใจอีกต่อไปแล้ว


เหตุโศกนาฏกรรมตอนท้าย เกิดขึ้นเพราะ เควินล้วนๆ หรือ เพราะแม่อย่างเดียว เพราะในที่สุดแล้วเราจะพบว่า หลายปัจจัยล้วนมีส่วนส่งเสริม ตั้งแต่เควินยังไม่เกิดเสียด้วยซ้ำ
ไม่ว่าจะเป็น ภาวะป่วยที่น่าจะเป็นโรคซึมเศร้าของแม่ขณะตั้งครรภ์ , ความเป็นลูกที่ไม่ได้ต้องการมาตั้งแต่ต้น , วิธีการรับมือกับเด็กอย่างไม่เหมาะสม , พ่อที่ดูเหมือนสนใจ แต่ไม่ใส่ใจถึงปัญหาที่กำลังก่อตัว , การให้เด็กคลุกคลีกับอาวุธมาโดยตลอด รวมถึง อาจจะเป็นเรื่องของ ยีนส์ เรื่องของ สมอง ที่ติดตัว เควิน เองมาตั้งแต่แรก ที่ทำให้ ไม่สนใจคนอื่น มองผู้คนเป็นเหมือนส่วนเกินในชีวิต

cr : หมอมินบานเย็น