ไส้เดือนดินกําจัดขยะอินทรีย์ตํารับแม่โจ้

ชื่อบทความเรื่อง : ไส้เดือนดินกําจัดขยะอินทรีย์ตํารับแม่โจ้ Garbage Disposal with Earthworm at Maejo University

ผู้เขียน : อานัฐ ตันโช

ชื่อวารสาร : วารสารผลิตกรรมการเกษตร ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 : มกราคม – เมษายน 2563

บรรณานุกรม :
อานัฐ ตันโช. (2565). การศึกษาการเจริญเติบโตในการผสมข้ามพันธุ์ของปลาลูกผสมบึกสยาม ปลาเทโพและปลาเทพา. วารสารวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร, 38(3), 117-127.

ไส้เดือนดินและการใช้ประโยชน์  ไส้เดือนดินถูกมองว่าเป็นสัตว์ที่เป็นประโยชน์มากกว่าสัตว์ที่เป็นโทษต่อมนุษย์เพราะมีส่วนช่วยทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้นจากการชอนไชช่วยทำให้ดินร่วนซุย และทำให้การระบายน้ำและอากาศในดินดีขึ้น ไส้เดือนดินสามารถชอนไชลงไปในดินได้ลึกกว่า 20 เมตร เป็นการช่วยในการไถพรวนทางธรรมชาติที่เครื่องกลทางการเกษตรไม่สามารถทำได้ และยังช่วยให้ดินอุดมสมบูรณ์ โดยการเพิ่มอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารแก่ดิน และนอกจากนี้ยังพบว่าไส้เดือนดินยังช่วยในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช และยังเป็นดัชนีที่มีชีวิต (bio-index) ในการบ่งชี้การปนเปื้อนสารพิษต่างๆ ในดินได้อีกด้วย

ประโยชน์ของไส้เดือนดินต่อการทำการเกษตร บทบาทของไส้เดือนดินต่อการทำการเกษตรที่เด่นชัดมากที่สุดคือ

1) การปรับโครงสร้างดิน จากการพลิกกลับดินหรือการกินดินที่มีแร่ธาตุแล้วถ่ายมูลออกมาทำให้เกิดการผสมผสานคลุกเคล้าแร่ธาตุในดิน และยังเป็นตัวช่วยในการย่อยสลายสารอินทรีย์ในดินซากพืชซากสัตว์ และอินทรียวัตถุต่างๆ ทำให้ธาตุอาหารพืชอยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช

2) ช่วยในการแพร่กระจายจุลินทรีย์ในดินที่เป็นประโยชน์ต่อพืชด้วยการชอนไชทำให้ดินร่วนซุยช่วยในการถ่ายเทน้ำและอากาศในดิน การเพิ่มช่องว่างในดินทำให้รากพืชชอนไชได้ดีขึ้น

สายพันธุ์ไส้เดือนดินแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ

1) ไส้เดือนดินสีเทา เป็นไส้เดือนที่มีขนาดใหญ่ กินอาหารน้อยการแพร่พันธุ์น้อย

2) ไส้เดือนดินสีแดง มีขนาดเล็กมีลำตัวสีแดงอาศัยอยู่บริเวณผิวดินที่มีแหล่งอาหารและความชื้นสูง กินอาหารเก่ง แพร่พันธุ์เร็ว มีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้สูง มีความสามารถในการย่อยสลายขยะอินทรีย์ได้ดี มีชื่อเรียกของชาวบ้านว่า “ขี้ตาแร่”

 

การเลี้ยงไส้เดือนดิน การเลี้ยงไส้เดือนดินในปัจจุบันมีวัตถุประสงค์ในการเลี้ยงดังนี้คือ 1)การเลี้ยงเพื่อกำจัดขยะอินทรีย์ 2)การเลี้ยงเพื่อผลิตปุ๋ยและเพาะไส้เดือนดินเพื่อจำหน่ายทางการค้า จากวัตถุประสงค์ที่ต่างกันนี้จึงทำให้ต้องมีการคัดเลือกสายพันธุ์ไส้เดือนดินและวิธีการเพราะเลี้ยงที่แตกต่างกัน โดยผู้เลี้ยงจะต้องศึกษาถึงคุณสมบัติต่างๆ ของแต่ละสายพันธุ์ เช่นการกิน การขยายพันธุ์ การอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างๆ เพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ในการเลี้ยง ซึ่งมีทั้งไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทยและสายพันธุ์ต่างประเทศให้เลือกเลี้ยง

การพัฒนาระบบกําจัดขยะจากไส้เดือนดินของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จากเหตุการณ์ปัญหาขยะล้นเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2541 ส่งผลให้เกิดการระดมความคิด  ช่วยกันแก้ไขปัญหาขยะที่มีมากมายซึ่งศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ได้เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการเข้าร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยได้ เสนอแนวทางในการกําจัดขยะอินทรีย์ด้วยไส้เดือนดิน โดยเริ่มแรกได้ทดลองนำไส้เดือนดินสายพันธุ์ต่างประเทศมาทดลองก่อน ซึ่งพบว่าไส้เดือนสายพันธุ์ต่างประเทศไม่เหมาะสมต่อการนํามาใช้เลี้ยงเพื่อกําจัดขยะอินทรีย์ในประเทศไทยเนื่องจากไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสภาพขยะอินทรีย์ของเมืองไทย และประกอบกับสายพันธุ์ต่างประเทศมีราคาสูงจึงยากต่อการส่งเสริมให้กับผู้สนใจนําไปเลี้ยงจึงเป็นที่มาของการเริ่มต้นสํารวจไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทยที่พบในท้องถิ่นเพื่อนํามาใช้ในการทดสอบกําจัดขยะอินทรีย์ต่อไป

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ :
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=652492
http://www.mjunaturalfarming.org/earthworm.php

สนใจอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ :
https://li01.tci-thaijo.org/index.php/japmju/article/view/241823/164934

สนใจดูบทความอื่นๆในวารสาร :
https://li01.tci-thaijo.org/index.php/japmju/issue/view/16610

หากพบปัญหาหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ :
เคาน์เตอร์ One Stop Service ชั้น 1
โทร 053-873510 ; 053-873511
Facebook:  MJU Library