การเพิ่มมูลค่าเนื้อผลกาแฟเป็นสารเชิงหน้าที่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

ชื่อบทความเรื่อง : การเพิ่มมูลค่าเนื้อผลกาแฟเป็นสารเชิงหน้าที่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
Value Added of Coffee Pulp as Functional Ingredient in Skin Care Cosmetic

ผู้เขียน : นางสาวนิชชิมา บุญอยู่, ผศ.ดร. ลภัสรดา มุ่งหมาย, ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เม่งอำพัน, นายณัฐวุฒิ หวังสมนึก และ รศ.ดร. ดวงพร อมรเลิศพิศาล

ชื่อวารสาร : วารสารวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร ปีที่ 38 ฉบับที่ 3 เดือนกันยายน-ธันวาคม 2564 หน้า 117-127

บรรณานุกรม :
นิชชิมา บุญอยู่, ลภัสรดา มุ่งหมาย, เกรียงศักดิ์ เม่งอำพัน, ณัฐวุฒิ หวังสมนึก, และ ดวงพร อมรเลิศพิศาล. (2564). การเพิ่มมูลค่าเนื้อผลกาแฟเป็นสารเชิงหน้าที่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง. วารสารวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร, 38(3), 117-127.

กาแฟ (Coffee) เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในการนำไปผลิตเป็นเครื่องดื่ม เนื่องจากการดื่มกาแฟจะส่งผลให้รู้สึกสดชื่น ตื่นตัว ช่วยลดอาการง่วงซึม และผ่อนคลายความรู้สึก ตึงเครียดลงได้ ดังนั้นจึงมีการเพิ่มปริมาณการปลูกกาแฟทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น อุตสาหกรรมกระบวนการแปรรูปกาแฟเพื่อให้ได้เมล็ดกาแฟจำนวนมากย่อมส่งผลให้มีส่วนเหลือทิ้งปริมาณมากตามมา โดยหลังจากการกะเทาะเปลือกกาแฟเพื่อนำเมล็ดด้านใน มาผลิตเป็นเครื่องดื่มจะเหลือเศษของเนื้อผลกาแฟ (Coffee Pulp; CP) ซึ่งหากขาดการจัดการที่เหมาะสม จะก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์และทำให้ดินเป็นกรด แต่เดิมมีการนำ CP ที่เป็นเศษเหลือทิ้งนั้นไปใช้ประโยชน์ในการทำปุ๋ยหมัก นำไปเป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ ใช้เป็นพื้นที่สำหรับเพาะปลูกเห็ดต่างๆ อย่างไรก็ตามยังไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร งานวิจัยก่อนหน้านี้พบว่าเนื้อผลกาแฟ (Coffee Pulp; CP) ประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในกลุ่มของสารประกอบฟีนอลิก คาเฟอีน และแทนนิน ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมของเซลล์ และยังมีน้ำมันที่ช่วยบำรุงผิวได้นอกจากนี้ยังตรวจพบกรดคลอโรจีนิก (Chlorogenic acid) ในปริมาณสูงร้อยละ 42.2 อิพิแคธิชิน (Epicatechin) ร้อยละ 21.6 และ แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่เป็นสารสีที่ให้สีแดง ม่วง และน้ำเงิน ส่วนฤทธิ์ทางชีวภาพพบว่า สารดังกล่าวมีศักยภาพเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี สามารถยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสี เมลานินซึ่งเป็นสาเหตุของผิวสีเข้มขึ้น ชะลอการเสื่อม สภาพของผิวหนัง จึงมีความเป็นไปได้ในการใช้เป็นวัตถุดิบหรือส่วนผสมในเครื่องสำอาง

รูปภาพแสดงสารประกอบในเครื่องสําอาง (Cosmetic ingredients)

การศึกษาครั้งนี้จึงนำ CP สายพันธุ์อราบิก้าที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งมาเพิ่มมูลค่าเป็นสารเชิงหน้าที่ในเครื่องสำอางบำรุงผิว โดยนำ CP มาทำการสกัดด้วยน้ำและทำให้แห้งด้วยวิธีแช่เยือกแข็งได้เป็นสารสกัดเนื้อผลกาแฟ (Coffee Pulp Extract; CPE) นำไปวิเคราะห์หาปริมาณสารประกอบฟีนอลิกพบว่า CPE มีฟีนอลิกรวม 45.12 มิลลิกรัมสมมูลกรดแกลลิกต่อ 1 กรัมของสารสกัด โดยมีกรดคลอโรจีนิกซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเท่ากับ 17.8 มก./กก. ในส่วนของการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพพบว่า CPE มีความสามารถในการยับยั้งอนุมูลอิสระ ABTS, DPPH และ superoxide ได้ร้อยละ 50 (IC50) มีค่าเท่ากับ 0.59, 0.94 และ 9.53 มก./มล. นอกจากนี้ยังพบว่า CPE สามารถยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสที่เป็นสาเหตุของการสังเคราะห์เมลานิน มีค่า IC50 เท่ากับ 125.21 มก./มล. จากผลการทดลองดังกล่าวพบว่า CPE มีคุณสมบัติเป็นสารเชิงหน้าที่เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ด้านเครื่องสำอาง จึงนำไปพัฒนาในตำรับครีมบำรุงผิวหน้า และทดสอบความคงตัวของผลิตภัณฑ์ใน 4 สภาวะ ได้แก่ อุณหภูมิห้อง 4°ซ. และ 45°ซ. เป็นเวลา 90 วัน และทดสอบความคงตัวของผลิตภัณฑ์แบบเร่งโดยการทดสอบแบบร้อนสลับเย็นจำนวน 6 รอบ ผลการทดลองพบว่าผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมีความคงตัวดีทั้ง 4 สภาวะ ดังนั้น CPE จึงมีศักยภาพในการนำมาเพิ่มมูลค่าเป็นสารเชิงหน้าที่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบำรุงผิว

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ :
https://www.tci-thaijo.org
https://hd.co.th/7-benefits-coffee-grounds-for-beauty

สนใจอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ :

https://li01.tci-thaijo.org/index.php/MJUJN/article/view/214356/173178 

สนใจดูบทความอื่นๆในวารสาร : https://li01.tci-thaijo.org/index.php/MJUJN

หากพบปัญหาหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ :
เคาน์เตอร์ One Stop Service ชั้น 1
โทร 053-873510 ; 053-873511

Facebook:  MJU Library