โลกซึมเศร้า : คลายปมโรคแห่งยุคสมัย และทางเลือกใหม่ในการเยียวยา

ชื่อเรื่อง : โลกซึมเศร้า  คลายปมโรคแห่งยุคสมัยและทางเลือกใหม่ในการเยียวยา

ผู้เขียน : Johann Hari

ผู้แปล : ดลพร  รุจิรวงศ์

สืบค้นจาก : http://opac.library.mju.ac.th/opac2/BibDetail.aspx?bibno=354944

                                                                     

ทุกวันนี้ภาวะซึมเศร้ากลายเป็นโรคแห่งยุคสมัย และเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมที่ดูเหมือนจะไม่มีตัวยาใดๆ ช่วยให้หายขาดได้ บางทีอาจถึงเวลาแล้วที่เราต้องหันมาค้นหาเมล็ดพันธุ์แห่งความเจ็บปวดที่ฝังรากลึก และทบทวนว่าที่ผ่านมา เรามัวแต่หาทางเยียวยา ‘โรค’ จนหลงลืม ‘โลก’ ไปใช่หรือไม่

โยฮันน์ ฮารี เผชิญภาวะซึมเศร้าตั้งแต่วัยรุ่น และติดอยู่ในวังวนของโรคนี้ถึง 13 ปี เขาจึงออกเดินทางเพื่อค้นหาคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก สืบสาวหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนข้อมูลน่าเหลือเชื่อที่บริษัทยาซุกซ่อนไว้ เพื่อย้อนรอยสู่ต้นตอของภาวะซึมเศร้าที่ทำให้เรา ‘ตัดขาด’ จากโลก ทั้งวิถีชีวิตแบบวัตถุนิยม งานที่ไร้ความหมาย หรือเหตุการณ์เลวร้ายในอดีต พร้อมนำเสนอหนทางเยียวยาแบบใหม่ที่เปรียบดังแสงสว่างปลายอุโมงค์ เพื่อนำทางเรากลับไป ‘เชื่อมต่อ’ กับโลกและผู้คนอีกครั้ง

ไม่ว่าคุณจะเป็นโรคซึมเศร้า มีบาดแผลทางจิตใจ หรือเป็นคนทั่วไปที่เผชิญความทุกข์เป็นครั้งคราว หนังสือเล่มนี้จะแสดงให้เห็นว่า อาการซึมเศร้าไม่ใช่ ‘ความป่วยไข้’ แต่เป็นสัญญาณเตือนให้หันกลับมาทบทวนชีวิต กอบกู้ตัวตนและความสัมพันธ์ที่หล่นหาย แล้วค้นหาหนทางเยียวยาความเจ็บปวด ทั้งในฐานะปัจเจกบุคคลและสังคม เพื่อก้าวออกจาก ‘โลกซึมเศร้า’ ไปด้วยกัน

ด้วยเหตุนี้ โยฮันน์จึงตัดสินใจออกเดินทางสำรวจ ‘โลก’ ซึมเศร้า ดินแดนที่เขาคุ้นเคยแต่เหมือนไม่รู้จัก ผลผลิตที่ตกผลึกได้จากการเดินทางครั้งนี้คือหนังสือ โลกซึมเศร้า: คลายปมโลกแห่งยุคสมัย และทางเลือกใหม่ในการเยียวยา ซึ่งรวบรวมข้อมูล ผลการศึกษา และข้อคิดเห็นที่น่าสนใจมากมาย จากแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมศาสตร์ และนักวิจัยอีกหลากหลายสาขาอาชีพ

หลังสิ้นสุดการเดินทาง โยฮันน์ค้นพบว่า สาเหตุที่ทำให้เขาตกอยู่ในภาวะเช่นนี้มาเนิ่นนาน เป็นเพราะเขา ‘ตัดขาด’ จากสิ่งสำคัญหลายสิ่งในชีวิต และหนทางที่จะเยียวยาได้คือ หันมา ‘เชื่อมต่อ’ ความสัมพันธ์ที่เคยหล่นหายไปอีกครั้ง

ทว่านี่ไม่ใช่เรื่องง่าย ข้อค้นพบในหนังสือเล่มนี้เฆี่ยนตีเขาหลายครั้ง และทำให้เขาตั้งคำถามกับตัวเอง ดังนั้น หากคุณกำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้า คุณไม่จำเป็นต้องกดดันตัวเองให้ออกไปเชื่อมต่อความสัมพันธ์อย่างทันท่วงที เพียงแต่เปิดใจรับแนวคิดนี้ไว้ แล้วค่อยๆ ปรับใจและปรับตัว

 

โรคซึมเศร้าและยาต้านซึมเศร้า

สถิติที่น่าสนใจและน่าตกใจคือ ในสหรัฐอเมริกา 1 ใน 5 ของผู้ใหญ่กินยารักษาโรคจิตเวชอย่างน้อยหนึ่งขนาน ขณะที่ 1 ใน 3 ของชาวฝรั่งเศสกินยารักษาโรคทางระบบประสาทและจิตอย่างยาต้านซึมเศร้า ส่วนสหราชอาณาจักรมีอัตราการใช้ยาเหล่านี้เกือบจะสูงที่สุดในทวีปยุโรป ผลการทดสอบน้ำประปาในประเทศแถบตะวันตกก็มักจะพบว่ามียาต้านซึมเศร้าเจือปนเสมอ เนื่องจากคนจำนวนมากกินยาเหล่านั้นและขับถ่ายยาออกมาจนไม่สามารถกรองออกจากน้ำที่เราดื่มกันทุกวันได้ เราถูกยาเหล่านี้ซัดถาโถมอย่างแท้จริง

คำถามที่คาใจโยฮันน์มานานคือ เหตุใดเขาถึงยังซึมเศร้าอยู่แม้จะกินยาต้านซึมเศร้าแล้ว ทั้งๆ ที่เพิ่มขนาดยาขึ้นเรื่อยๆ ทำไมความทุกข์ยังคงวิ่งแซงหน้าเขาไป ยาเพียงอย่างเดียวเพียงพอหรือไม่ อะไรคือหนทางรักษาที่แท้จริงและยั่งยืนกันแน่

โยฮันน์เดินทางไปพบนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเพื่อศึกษาเรื่องผลกระทบของยา และเริ่มค้นพบว่า อุตสาหกรรมยาขนานใหญ่ของสหรัฐอเมริกามีบทบาทควบคุมผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายยาอย่างมาก และผลทางการรักษาของยาต้านซึมเศร้าที่จำหน่ายในท้องตลาดซึ่งส่งผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยนั้นยังเป็นเรื่องน่ากังขาที่ต้องพิสูจน์ต่อไป

แน่นอนว่ายาต้านซึมเศร้าอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของวิธีรักษาที่ใช้ได้ผลในคนบางกลุ่ม โยฮันน์กล่าวว่า ถ้าคุณรู้สึกว่ายาช่วยได้และมีผลดีมากกว่าผลข้างเคียง คุณก็ควรใช้ต่อไป แต่หลักฐานที่เขาพยายามแสดงให้เห็นคือ เราไม่ควรกล่าวว่ายาเป็นวิธีรักษาเพียงอย่างเดียวที่ส่งผลเพียงพอสำหรับคนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล

กอบกู้อนาคต และ ‘สัญญาณ’ ที่เราควรรับฟัง

ในบรรดาหนทางเยียวยาเพื่อเชื่อมต่อกับสิ่งสำคัญทั้งหลาย อุปสรรคที่หนาหนักและใหญ่หลวงกว่าหลายข้อที่กล่าวไปก็คือ ความรู้สึกว่าชีวิตไม่มั่นคงจนมองไม่เห็นอนาคต ปัจจุบันผู้คนทั่วโลกกำลังก้มหน้าก้มตาทำงานงกๆ โดยไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว ไม่มีเวลาอยู่กับตัวเอง ไม่มีเวลากระทั่งใช้ชีวิต

ข้อเท็จจริงที่น่าเศร้าคือ ยิ่งคุณยากจนแค่ไหน คุณก็ยิ่งมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลมากขึ้นเท่านั้น เช่นในสหรัฐฯ ถ้าคุณมีรายได้ต่อปีน้อยกว่า 20,000 เหรียญ คุณมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าสูงกว่าคนที่มีรายได้ต่อปี 70,000 เหรียญกว่าเท่าตัว

มีตัวอย่างการทดลองในชุมชนแห่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อสมาชิกชุมชนได้รับการประกันรายได้พื้นฐาน และบรรเทาความกังวลและความเครียดเรื่องการใช้จ่ายต่างๆ อัตราการป่วยเนื่องจากโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

“สุขภาพจิตเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นในเชิงสังคม เหนือสิ่งอื่นใด สุขภาพจิตที่สมบูรณ์หรือบกพร่องนั้นเป็นดัชนีชี้วัดทางสังคม จึงต้องอาศัยการเยียวยาแก้ไขทั้งในเชิงสังคมและเชิงปัจเจกบุคคล  องค์การอนามัยโลก

นี่เป็นประเด็นหนึ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การเยียวยาภาวะซึมเศร้านั้นไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง แต่เกี่ยวโยงกับทั้งสังคม และมีสาเหตุจากบางอย่างที่ไม่ถูกต้องในวัฒนธรรมของเรา ดังนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนว่าสังคมต้องหาวิธีแก้ร่วมกัน เราต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบค่านิยมและวัฒนธรรมที่เป็นอยู่ เพื่อให้คนจำนวนมากขึ้นได้มีอิสระที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเขาเอง

“เธอไม่ได้ทุกข์ทรมานจากสารเคมีในสมองไม่สมดุลหรอก แต่เธอกำลังทุกข์ทรมานจากความไม่สมดุลทางสังคมและจิตวิญญาณในการใช้ชีวิตของเราต่างหาก”  โยฮันน์ ฮารี

โรคซึมเศร้าและวิตกกังวลนั้นคือ ‘สัญญาณ’ ที่บ่งบอกว่าวิถีชีวิตของเรามีบางอย่างผิดปกติ เราต้องเลิกพยายามลดทอนหรือปิดกั้นเสียงของความเจ็บปวด หรือเลิกมองว่ามันเป็นความเจ็บป่วย สิ่งที่เราต้องทำคือรับฟังและให้เกียรติความเจ็บปวดนั้น เมื่อเรารับฟังความเจ็บปวดของเรา เมื่อนั้นเราจึงจะสืบสาวจนเจอต้นตอ และ ณ ต้นตอนั้นเอง เมื่อเรามองเห็นสาเหตุที่แท้จริง เมื่อนั้นเราจึงจะก้าวข้ามสาเหตุเหล่านั้น เพื่อค้นหาหนทางออกจาก ‘โลกซึมเศร้า’ ได้ในที่สุด

 

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : https://bit.ly/3Icao1t , https://bit.ly/3s9K16E , https://bit.ly/3s5Kw1N

สนใจหนังสือเล่มนี้ ติดต่อขอใช้บริการ :

Books Seeking & Delivery Service (บริการจัดส่งสำหรับอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่โจ้)

หากพบปัญหาหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ :

เคาน์เตอร์ One Stop Service ชั้น 1

โทร 053-873510  

Facebook MJU Library