Social Life on the Move

ชื่อเรื่อง : ชีวิตทางสังคมในการเคลื่อนย้าย Social Life on the Move

ผู้เขียน : ประเสริฐ แรงกล้า

สืบค้นจาก : http://opac.library.mju.ac.th/opac2/BibDetail.aspx?bibno=348588

การเคลื่อนย้าย (mobility) และนัยสำคัญที่การเคลื่อนย้ายมีผลต่อวิธีคิดเรื่อง “ชีวิต” (life) ใน “สังคมสมัยใหม่” (modern society) ชีวิตอยู่ท่ามกลางการติดต่อแลกเปลี่ยนอย่างเข้มข้นระหว่างบุคคล องค์กรและเครือข่าย การเคลื่อนย้ายเกิดขึ้นทั่วไปและมีขอบเขตเชิงพื้นที่กว้างขวางมาก ชีวิตของเราไม่ผูกติดอยู่กับชาติหรือสังคมแห่งใดแห่งหนึ่ง หรือจำกัดอยู่เฉพาะในสถานที่ตั้งหรือตำแหน่งทางภูมิศาสตร์เฉพาะแห่ง ผู้คน สิ่งของ ทุน ข้อมูล และความคิดเคลื่อนที่หมุนเวียน เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ผู้คนและสิ่งต่างๆ เชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายผ่าน “การเคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่” (spatial mobility) ชีวิตและ
ความสัมพันธ์ทางสังคมต่างๆจึงเกิดขึ้นจากการอยู่รวมกันของทั้ง”สิ่งที่อยู่ตรงนี้” และ “สิ่งที่อยู่ตรงโน้น” (here and there) “สิ่งที่มองเห็นอยู่ตรงหน้า”และ“สิ่งที่มองไม่เห็น”(presence and absence) “การประสานเข้าหากัน” และ “การแยกตัวออกจากกัน” (coordinating and decoupling) ชีวิตในสิ่งแวดล้อมแบบนี้เกิดขึ้นและดํารงอยู่จากการลู่เข้าหากันของสิ่งที่แตกต่างกันมากกว่าจะดํารงอยู่เป็นเอกเทศ


“การเคลื่อนย้าย” นับว่าเป็นหมุดหมายสําคัญของชีวิตสมัยใหม่ (modern life) เวียร์ต คันซ์เลอร์ และคณะ (Weert Canzler et al., 2008, p. 6) เห็นว่า “เราอาจมองว่าการเคลื่อนย้าย (mobility) เป็นหลักการ (principle)ทั่วไปข้อหนึ่งของความเป็นสมัยใหม่ (modernity) เหมือนกับหลักการข้ออื่นๆ อย่างเช่น ความเป็นปัจเจกบุคคล (individuality) ความมีเหตุผล(rationality) ความเท่าเทียม (equality) และความเป็นโลก (globality)”จอร์จ ซิมเมล (Georg Simmel, 2011) ก็ยอมรับว่าการเคลื่อนย้ายเป็นลักษณะพื้นฐานที่สําคัญของสังคมสมัยใหม่ เขาอธิบายแนวคิดเรื่องความเป็นสมัยใหม่ว่าเป็นโครงร่างเฉพาะแบบที่เกิดจากกิริยาการเคลื่อนไหวและศักยภาพจากการเคลื่อนที่ เขาเห็นว่า “สมัยใหม่” (modern) แตกต่างและมีทัศนะที่ตรงข้ามกับ “ก่อนสมัยใหม่” (pre-modern) นั่นคือสังคมสมัยใหม่เห็นความสําคัญกับการเคลื่อนย้าย (mobility) ขณะที่สังคมก่อนสมัยใหม่เน้นความมีเสถียรภาพ (stability)

หนังสือเล่มนี้มุ่งสำรวจข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์(empirical facts) ของการเคลื่อนย้าย ด้วยความระมัดระวังและวิพากษ์สมมติฐานที่ยึดถือตามกันมานานว่าการเคลื่อนย้ายเกิดขึ้นในวิถีโคจรแบบเส้นตรง (linear trajectory) หรือเป็นเพียงการเดินทางระหว่างสองจุดตามแผนหรือมีวัตถุประสงค์บางอย่างชัดเจนอยู่แล้ว พื้นที่ระหว่างกลางเป็นเพียงกล่องดำที่ไม่มีอะไรให้น่าค้นหา การศึกษา “การเคลื่อนย้าย” ลักษณะต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้จึงสนใจพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทที่เป็นรูปธรรม สนใจความหมายทางสังคม ในการเคลื่อนย้าย โดยไม่ลดทอนและละทิ้งลักษณะซับซ้อนของความจริงไป และสนใจลักษณะอุบัติใหม่ หรือความเปลี่ยนแปลงเชิงความหมายและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางด้วย

 

สนใจสอบถามได้ที่ เคาน์เตอร์ยืมคืน ชั้น 1 โทร 053-873510 , Facebook MJU Library หรือใช้

บริการ Books Seeking & Delivery Service (บริการจัดส่งสำหรับอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่โจ้)

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : https://shorturl.asia/AGskH , https://shorturl.asia/hJEGW, https://www.geospatialworld.net/ , https://www.trueplookpanya.com/