คู่มือรัฐประหาร

ชื่อเรื่อง : คู่มือรัฐประหาร
ผู้เขียน : พันศักดิ์ วิญญรัตน์
สำนักพิมพ์ : สมมติ
สืบค้นจาก : http://opac.library.mju.ac.th/opac2/BibDetail.aspx?bibno=283398

 

สารบัญ

  • คำนำคู่มือรัฐประหาร โดย พันศักดิ์ วิญญรัตน์
  • บทนำ “คู่มือรัฐประหาร” โดย ไชยันต์ รัชชกูล
  • บทกล่าวนำ คู่มือทำความเข้าใจเพื่อต่อต้านรัฐประหาร โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
  • 01 อะไรคือรัฐประหาร
  • 02 ยุทธศาสตร์การทำรัฐประหาร
  • 03 การทำลายประสิทธิภาพการต่อต้านของตำรวจ
  • 04 ผู้นำรัฐบาล
  • 05 ข้อควรคำนึงในการทำรัฐประหาร
  • ภาคผนวก

คู่มือรัฐประหาร เป็นหนังสือที่พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ปี 2517 คู่มือรัฐประหาร เป็นหนึ่งในหนังสือต้องห้าม (เอกสารและสิ่งพิมพ์ที่ห้ามผู้ใดมีไว้ครอบครอง) หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายสมัคร สุนทรเวช) ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเอกสารและสิ่งพิมพ์ต่อไปนี้ เป็นเอกสารและสิ่งพิมพ์ซึ่งเสนอข่าวสาร บทความ และข้อเขียน แสดงความคิดเห็นอันส่อไปในทางก่อให้เกิดความแตกแยกความสามัคคีในชาติ หรือชี้นำให้ผู้อ่านเกิดความนิยมเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน หรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินไม่ว่าวิถีทางใด อันเป็นการทำลายความมั่นคงของชาติ

 

โดยเนื้อแท้แล้ว คู่มือรัฐประหาร มิใช่เป็นหนังสือที่จะใช้เป็นคู่มือในการล้มล้างรัฐบาล แต่ถ้าพิจารณาโดยละเอียดแล้ว หนังสือเล่มนี้ต้องการจะแสดงให้เห็นวิธีการในการทำรัฐประหารของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคแถบนี้ ปัจจัยอะไรที่จะสนับสนุนการทำรัฐประหารให้สำเร็จหรือล้มเหลว เราหวังว่าข้อคิดบางประการในหนังสือเล่มนี้คงจะมีส่วนที่จะทำให้วิญญูชนเข้าใจถึงการทำรัฐประหาร ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นเผด็จการ หรือทรราชขึ้นมาเถลิงอำนาจ โดยใช้เราท่านทั้งหลายเป็นสื่อทอดให้การกระทำของพวกเขา

หนังสือคู่มือรัฐประหาร ถูกนำมาตีพิมพ์อีกครั้ง ในปี 2556 เหตุใดหนังสือเล่มนี้จึงเคยเป็น ‘หนังสือต้องห้าม’ เพราะมันบอก วิธีทำรัฐประหาร หรือ เพราะมันบอก วิธี ‘ป้องกัน’ รัฐประหาร หรือ หรือเพียงเพราะชื่อของมันที่ทำให้ใครบางคน ‘ระคายเคือง’ โดยที่ยังไม่ได้เปิดอ่าน การอ่านหนังสือเพียงแค่ชื่อจากหน้าปก ไม่ได้บ่งบอกว่าเนื้อหาภายในจะต้องเป็นอย่างชื่อหนังสือ

ลองเปรียบเทียบกับกรณีที่จะมีหนังสือชื่อเรื่องว่า ‘คู่มือการทำลายชีวิตเด็ก สตรีมีครรภ์ และคนชรา’ สาธารณชนในประเทศนี้จะเห็นเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ธุระ หรือถึงกับเป็นเรื่องที่ย่อมทำได้กระนั้นหรือ? สังคมไทยเป็นเสรีนิยม หรือไม่ก็วิปริตถึงขั้นนั้นแล้วหรือ?

ลองเปรียบเทียบใหม่กับกรณีที่ใกล้เคียงกันมากกว่า คือถ้ามีหนังสือที่ว่าด้วยวิธีการทำลายล้างประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง รวมไปถึงวิธีพิจารณาความแพ่งและอาญา แถมด้วยภาคผนวกการฉีกพระราชบัญญัติ การเผากฎกระทรวง จนไปถึงการนำระเบียบ กฎข้อบังคับทั้งหลายทั้งปวง ตั้งแต่ออกโดยสำนักนายกฯ จนไปถึงเทศบัญญัติระดับตำบลไปใช้เป็นกระดาษชำระสำหรับห้องน้ำสาธารณะ

  • วงการตุลาการและบรรดาเหล่าที่หากินกับระบบที่เรียกกันเองว่ากระบวนการยุติธรรม จะมีปฏิกิริยาอย่างไร? จะไม่รู้สึกรู้ร้อนรู้หนาวเช่นนั้นหรือ?
  • นักนิติศาสตร์ใหญ่น้อยทั้งหลายจะไม่ออกมาประณามหนังสือเช่นนี้หรือ? จะไม่ออกมาโวยวายว่าบ้านนี้เมืองนี้ไม่มีขื่อมีแป เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนกันแล้วหรือ?

ไม่ว่าจินตนาการจะพิลึกพิลั่นขนาดไหน ก็คงนึกภาพไม่ออกว่าจะมีเหล่าผู้พิพากษา อัยการ นักวิชาการนิติศาสตร์ จนถึงนักกฎหมายที่ท่องตัวบทเป็นคัมภีร์ทั้งหลายจะออกมาก่อม็อบเดินขบวนโดยถือป้ายรูปกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์นำหน้า แล้วเรียกร้องให้เผาหนังสือเช่นนั้น พร้อมทั้งนำคนเขียนไปแขวนคอหรือฐานกรุณาก็เอาใส่ตะกร้อให้ช้างเตะเพื่อให้เข็ดหลาบ มิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อีกต่อไป

ถ้าเช่นนั้น หนังสือที่แนะนำฆาตกรรมรัฐธรรมนูญ ซึ่งบรรดาบุคคลที่มีอาชีพในย่อหน้าข้างต้นถือเป็นกฎหมายสูงสุด สูงกว่ากฎหมายใดๆ ทั้งปวง ไม่ใช่เหนือกว่าเพียงบทบัญญัติ อบต. ที่ห้ามทิ้งสิ่งปฏิกูลลงบนทางเท้าทางน้ำ ถึงไม่รู้สึกรู้สา และยิ่งซ้ำร้ายกว่าการไร้ความรู้สึกใดๆ แล้ว ยังให้ความชอบธรรมแก่การทำลายล้างกฎหมายที่บรรดาข้าราชการทั้งหลายต้องให้คำสัตย์ปฏิญาณว่าจะเคารพ และบางหมู่เหล่าถึงกับประกาศว่าจะรักษาไว้ยิ่งชีวิตอีกด้วย?
เรื่องที่เป็นสุดยอดของสุดยอดแห่งปรากฏการณ์การกลับตาลปัตร หรือที่บางคนเรียกว่า ‘การย้อนแย้ง’ ก็คือ ศาลที่มีหน้าที่ปกป้องรักษารัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ ถ้าผู้ใดละเมิดมาตราใดมาตราหนึ่ง ก็จะต้องถูกลงทัณฑ์อย่างรุนแรง แต่ถ้าละเมิดจนถึงขั้นขยี้ทุกมาตรา หรือโยนทิ้งทั้งฉบับ ก็กลับไม่เห็นเป็นความผิดแต่ประการใด ซ้ำยังแก้ต่างให้ว่าเป็นเรื่องของการสถาปนารัฏฐาธิปัตย์ อันเป็นศัพท์ที่เกินความเข้าใจของตาสีตาสาและปัญญาของผู้มีสามัญสำนึก แต่ถ้าใช้คำพูดที่ใช้ตามร้านข้าวแกงข้างถนนก็คือ เป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่ได้ผิดหลักนิติธรรมและโอวาทของใคร แต่อย่างไร

หนังสือเล่มนี้นอกจากจะปูความรู้เรื่องพื้นฐานระหว่างรัฐประหารกับปฏิวัติแล้ว ยังแสดงให้ถึงวิธีที่จะได้มาซึ่งอำนาจของคณะรัฐประหาร ประชาชนนั้นไม่มีองค์กร หรืออาวุธที่จะต่อต้านคณะรัฐประหารอย่างเป็นทางการดังเช่นหน่วยกำลังรบของฝ่ายรัฐบาล แต่ความรู้สึกของประชาชนต่อคณะรัฐประหารจะเป็นดัชนีชี้ว่าการทำรัฐประหารนั้นเป็นผลสำเร็จอย่างแท้จริงหรือไม่ ในการโฆษณาชวนเชื่อ “คณะรัฐประหารต้องทำให้ประชาชนเชื่อว่าคณะรัฐประหารนั้นไม่เป็นอันตรายต่อประชาชนแต่อย่างใด อันที่จริงแล้วจะช่วยปกป้องประชาชนเสียอีก คณะรัฐประหารนั้นไม่ใช่พวกหัวรุนแรงหรือเป็นพวกที่มหาอำนาจต่างประเทศชักใยอยู่ข้างหลัง หากแต่เป็นคณะรักชาติ รักประชาชน”

จุดมุ่งหมายของคู่มือรัฐประหารก็เพื่อผลจะให้ฝ่ายที่คิดทำรัฐประหารได้ตระหนักว่า การจะคิดเช่นนี้มิใช่เรื่องง่ายต่อไปอีกแล้วเพราะประชาชนย่อมสามารถทำความเข้าใจกับการรัฐประหารได้ และจะต่อต้าน หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ก่อให้เกิดหนังสือและความแตกฉานต่างๆ นานาที่ตามมา ทำให้เรายิ่งมองไปได้ไกล เข้ารอยตามสำนวนที่พูดกันว่า “คนแคระอ่านงานของปราชญ์ เพื่อขึ้นไปยืนบนบ่าของยักษ์”

สำหรับผู้ที่มีโลกทรรศน์อันหมองหม่นก็อาจรู้สึกไปว่า การที่ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยโดยมีราษฎรเป็นประมุขนั้นเป็นเรื่องไกลเกินจินตนาการ ส่วนผู้มีโลกทรรศน์ที่มองสรรพสิ่งอย่างที่เป็นจริงๆ (ไม่ใช่ตามความปรารถนา) ก็อาจจะเห็นไปว่า ประชาธิปไตยแบบนั้นไม่เหมาะกับชีวิตความเป็นไทย ซึ่งนิยม ‘ความเป็นทาส’ มากกว่า ‘ความเป็นไท’

แต่ถ้าตัดโลกทรรศน์ ชีวทัศน์ออก แล้วพิจารณาจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา บวกกับการอิงแนวคิดที่เรียนกันในรัฐศาสตร์ 101 ก็คงจะเห็นได้ว่า มีกลไกที่เอื้อต่อการเกิดรัฐประหารอยู่ในระบบการปกครองของไทยอยู่แล้วคือมีสถาบันที่ยินดีปรีดากับรัฐประหารเสมอมา ตัวอย่างของสถาบันเช่นนี้เป็นวงกว้าง รวมตั้งแต่สถาบันโฆษณาสรณะ สถาบันวินัยนิยม สถาบันมาตรค้างคาว จนถึงสถาบันบริโภคราษฎร์สมบัติ ฯลฯ บางสถาบันสร้างถ้ำของตนเองขึ้น บริหารจัดการการบุคลากร ทั้งการแต่งตั้ง เลื่อนลำดับ โยกย้าย ควบคุมกำกับความคิด ฯลฯ เป็นเอกเทศพ้นเหนือนโยบาย สายงานบังคับบัญชาของรัฐ และสถาบันตัวแทนของราษฎร

สถาบันดังกล่าวนี้มีอำนาจที่จะทำการรัฐประหารเอง และด้วยการสนับสนุนทั้งก่อนหน้าและหลังจากที่รัฐประหารได้เกิดขึ้นแล้ว จึงเป็นที่เชื่อได้ว่า ตราบเท่าที่ระบบรัฐมีกลไกก่อรัฐประหารเป็นองค์ประกอบอยู่ในตัวเช่นนี้ ตราบนั้นการรัฐประหารก็สามารถจะผุดพ้นน้ำขึ้นมาได้อยู่ร่ำไปมิไยว่าประชาชนจะรู้เท่าทันหรือไม่

“ก็เมื่อข้าพเจ้าจะทำซะอย่าง จะมีปัญหาอะไรมั้ย
ถ้าคุณไม่ชอบ ก็ไสหัวไปอยู่ที่อื่น มึงรู้มั้ยว่าบ้านนี้เป็นของใคร”

—————————————————————————————————————————

สนใจสอบถามได้ที่ เคาน์เตอร์ยืมคืน ชั้น 2 โทร 053-873510 , Facebook MJU Library

หรือใช้บริการ Books Seeking & Delivery Service (บริการยืมสำหรับอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่โจ้)

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ: https://www.sm-thaipublishing.com; https://su-usedbook.tarad.com/