Mobile Syndrome คืออะไร – ในยุคที่มีเทคโนโลยีมากมายที่ช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น ทุกคนต่างก้มหน้าก้มตาใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเรื่องการเรียน การทำงาน หรืออะไรก็ตามจนเกิดเป็นยุคที่เรียกว่า “สังคมก้มหน้า” และเชื่อว่าหลาย ๆ คนคงจะสงสัยกันว่ามี office syndrome, computer vision syndrome (CVS) ไปแล้วยังจะมี Mobile Syndrome อีก แล้วมันอันตรายถึงชีวิตรึเปล่า ถ้าทุกคนพร้อมแล้ว ไปอ่านกันเลย
Mobile Syndrome คืออะไร
Mobile Syndrome หรือ Smartphone Syndrome หรือโรคกล้ามเนื้อคอหดเกร็ง (Text Neck Syndrome) อาการทั่วไปก็มีลักษณะคล้ายกับโรค Office Syndrome ที่เกิดกับพนักงานออฟฟิศเพราะมักต้องทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ตลอดวัน ส่งผลให้บริเวณคอ บ่า ไหล่ เกิดอาการปวด แต่มีสาเหตุเพิ่มเติมที่เกิดมาจากพฤติกรรมการก้มหน้าใช้โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นาน ๆ ก็มักจะมีอาการปวดเกร็งบริเวณข้อมือ ข้อนิ้ว นิ้วมือ และแขนร่วมด้วยเพราะกล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็งจากการจับโทรศัพท์ยิ่งใครเล่นโทรศัพท์ทั้งวัน วันละหลายชั่วโมงเนี่ย เสี่ยงเป็นโรคนี้มาก
อาการของ Mobile Syndrome
อาการหลักของโรค Mobile Syndrome สังเกตไม่ยาก ถ้าเริ่มมีอาการนิ้วล็อค ตาล้า ตาพร่า ตาแห้ง เมื่อยคอ เมื่อยบ่า เมื่อยไหล่ หรือปวดศีรษะตามมาต้องเริ่มระวังให้ดี สาเหตุของอาการเหล่านี้มาจากการก้มหน้ามองจอหรือใช้มือถือติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวและทำงานหนักเกินกว่าปกติ จนอาจส่งผลให้อวัยวะเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควร
การรักษา Mobile Syndrome หรือ Text Neck Syndrome
คนไหนที่เริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีอาการแบบที่บอกไปข้างต้น โรคนี้เกิดจากพฤติกรรม การรักษาจะมี 2 แนวทางใหญ่ ๆ คือ
- การแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยการปรับท่าทางของร่างกายให้อยู่ในท่าที่ถูกต้องและเหมาะสมเวลาใช้โทรศัพท์มือถือ ท่าทางที่เหมาะสมกับการใช้โทรศัพท์ที่สุดคือ ยกโทรศัพท์ขึ้นมาอยู่ระดับสายตา วิธีนี้จะทำให้เราไม่ต้องก้มหน้าลงไป ช่วยลดอาการปวดบริเวณกล้ามเนื้อคอได้ หรือปรับเวลาการใช้โทรศัพท์มือถือให้น้อยลง
- รักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด เช่น การบริหารร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ การคลายกล้ามเนื้อ การยืดกล้ามเนื้อ ร่วมกับการใช้ยาเพื่อลดการอักเสบ ลดปวด และการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ สำหรับใครที่มีอาการเจ็บปวดรุนแรงจะต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วนเพื่อพิจารณาการรักษา อย่างไรก็ตาม โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม การปรับพฤติกรรมจึงเป็นแนวทางป้องกันที่ดีที่สุด
สุดท้ายแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือพยายามใช้โทรศัพท์ให้น้อยลง และหาเวลาว่างไปทำกิจกรรมนอกบ้านบ้าง เช่น ออกไปเที่ยวเล่นกับเพื่อน หากิจกรรมทำกับครอบครัว หรือถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้มือถือได้จริง ๆ อาจจะพยายามปรับให้ใช้น้อยลงเท่าที่จะน้อยได้ การมีพฤติกรรมแบบนี้แหละที่จะช่วยให้เราห่างไกลจากโรค Mobile Syndrome และทำให้สุขภาพกลับมาดีขึ้นเหมือนเดิม
Credit : iT24Hrs.